Wednesday, 29 July 2009

บัว


บัว พันธุ์ไม้น้ำที่ถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ผุดผ่องและคุณงามความดีในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบระดับสติปัญญาของมนุษย์กับการเจริญเติบโตของบัว เป็น 4 เหล่าคือ บัวในโคนตม บัวใต้น้ำ บัวปิ่มน้ำ และบัวเหนือน้ำ บัวเป็นพันธุ์ไม้น้ำที่ดูสง่างาม ดอกมีขนาดใหญ่ มีสีสันสวยงาม เด่นสะดุดตาสะดุดใจแก่ผู้พบเห็น บางชนิดมีกลิ่นหอมน่าชื่นชม ด้วยเหตุนี้เองบัวจึงได้รับสมญาว่า "ราชินีแห่งไม้น้ำ"

บัว เป็นพืชน้ำชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์ Nymphaeaceae จัดเป็นพืชน้ำล้มลุกที่มีอายุหลายปี พบได้ทั่วไปทั้งในเขตร้อน เขตอบอุ่นและเขตหนาว จำแนกถิ่นกำเนิดและการเจริญเติบโตได้ 2 จำพวกคือ

  1. บัวที่เกิดและเจริญเติบโตในเขตอบอุ่นและเขตหนาว (Subtropical and Temperate Zones) เช่น ยุโรป อเมริกาเหนือ ภาคใต้ของอเมริกาใต้ ตอนเหนือของอินเดีย จีนและออสเตรเลีย บัวประเภทนี้มีเหง้าสะสมอาหารอยู่ในดิน เมื่อถึงฤดูหนาวผิวหน้าของน้ำเป็นแผ่นน้ำแข็ง จะทิ้งใบและอาศัยอาหารในเหง้าเลี้ยงตัวเอง เมื่อเข้าฤดูใบไม้ผลิน้ำแข็งละลายหมดก็จะเจริญแตกหน่อต้นใหม่ และจะเจริญเติบโตออกดอกออกผลหมุนเวียนอยู่เช่นนี้เรื่อยไป เรียกบัวประเภทนี้ว่า Hardy Type หรือ Hardy Waterlily นักพฤกษศาสตร์จัดให้บัวประเภทนี้อยู่ในกลุ่ม Castalia Group หรือ อุบลชาติประเภทยืนต้น
  2. บัวที่เกิดและเจริญเติบโตในเขตร้อน (Tropical Zones) เช่น ทวีปเอเซียตอนกลางและตอนใต้ อาฟริกา ออสเตรเลียตอนเหนือ อเมริกากลางและอเมริกาใต้ บัวประเภทนี้กำเนิดและเจริญเติบโตได้ในเขตร้อนเขตเดียว ถ้านำไปปลูกในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว เมื่อเข้าฤดูหนาวผิวหน้าของน้ำเป็นน้ำแข็งทำให้บัวประเภทนี้ต้องตายไป จึงเรียกบัวประเภทนี้ว่า Tropical Type หรือ Tropical Waterlily นักพฤกษศาสตร์จัดให้บัวประเภทนี้อยู่ในกลุ่ม Lotus Group หรือ อุบลชาติประเภทล้มลุก
ลักษณะโดยทั่วไป
บัวเป็นพืชน้ำล้มลุก ลักษณะลำต้นมีทั้งที่เป็น เหง้า ไหล หรือหัว ใบเป็นใบเดี่ยวเจริญขึ้นจากลำต้น โดยมีก้านใบส่งขึ้นมาเจริญที่ใต้น้ำ ผิวน้ำหรือเหนือน้ำ รูปร่างของใบส่วนใหญ่กลมมีหลายแบบ บางชนิดมีก้านใบติดอยู่ที่หลังใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยวสมบูรณ์เพศ ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 4-6 กลีบ กลีบดอกมีทั้งชนิดซ้อนและไม่ซ้อน มีสีสันแตกต่างกันแล้วแต่ชนิด บัวที่พบและนิยมปลูกในประเทศไทยมีอยู่ 3 สกุล คือ

  1. สกุลบัวหลวง (Lotus) เป็นบัวในสกุล Nelumbo มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า ปทุมชาติ หรือ บัวหลวง มีถิ่นกำเนิดแถบเอเชีย เช่น จีน อินเดียและไทย มีลำต้นใต้ดินแบบเหง้าและไหลซึ่งเมื่อยังอ่อนจะมีลักษณะเรียวยาว เมื่อโตเต็มที่จะอวบอ้วนเนื่องจากสะสมอาหารไว้มาก มีข้อปล้องเป็นที่เกิดของราก ใบและดอกเกิดจากหน่อที่ข้อปล้องแล้วเจริญขึ้นมาที่ผิวน้ำหรือเหนือน้ำ ใบเป็นใบเดี่ยวมีลักษณะกลมใหญ่สีเขียวอมเทา ขอบใบยกผิวด้านบนมีขนอ่อนๆ ทำให้เมื่อโดนน้ำจะไม่เปียกน้ำ เมื่อใบยังอ่อนใบจะลอยปิ่มน้ำ ส่วนใบแก่จะชูพ้นน้ำ ก้านใบและก้านดอกมีหนาม ดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ชูสูงพ้นผิวน้ำ มีทั้งดอกป้อมและดอกแหลม บานในเวลากลางวันมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 4-6 กลีบ ด้านนอกมีสีเขียว ด้านในมีสีเดียวกับกลีบดอก กลีบดอกมีทั้งชนิดดอกซ้อนและไม่ซ้อน สีของกลีบดอกมีทั้งสีขาว ชมพู หรือเหลือง แตกต่างกันแล้วแต่ชนิดพันธุ์ บัวในสกุลนี้เป็นบัวที่รู้จักกันดีเพราะเป็นบัวที่มีดอกใหญ่นิยมนำมาไหว้พระ และใช้ในพิธีทางศาสนา เหง้าหรือที่มักเรียกกันว่ารากบัวและไหลบัวรวมทั้งเมล็ดสามารถนำมาเป็นอาหาร ได้
  2. สกุลบัวสาย (Waterlily) เป็นบัวในสกุล Nymphaea มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า อุบลชาติ หรือ บัวสาย บัวสกุลนี้มีลำต้นใต้ดินเป็นหัวหรือเหง้า ใบและดอกเกิดจากตาหรือหน่อและเจริญขึ้นมาที่ผิวน้ำด้วยก้านส่งใบและยอด บางชนิดมีใบใต้น้ำ ใบเป็นใบเดี่ยว มีขอบใบทั้งแบบเรียบและแบบคลื่น ผิวใบด้านบนเรียบเป็นมัน ด้านล่างมีขนละเอียดหรือไม่มี ดอกเป็นดอกเดี่ยวมีทั้งชนิดที่บานกลางคืนและบานกลางวัน บางชนิดมีกลิ่นหอม มีสีสันหลากหลายแตกต่างกันไป
  3. สกุลบัววิกตอเรีย (Victoria) เป็นบัวในสกุล Victoria มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า บัวกระด้ง จัดเป็นบัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีลำต้นใต้ดินเป็นหัวใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยวมีขนาดใหญ่ประมาณ 6 ฟุต ลอยบนผิวน้ำ ใบอ่อนมีสีแดงคล้ำเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม ขอบใบยกขึ้นตั้งตรง มีหนามแหลมตามก้านใบและผิวใบด้านล่าง ดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ ก้านดอกและกลีบเลี้ยงด้านนอกมีหนามแหลม บานเวลากลางคืนและมีกลิ่นหอม ดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงจำนวน 4 กลีบ ด้านนอกมีสีเขียวด้านในสีเดียวกับกลีบดอก เมื่อเริ่มบานกลีบดอกจะมีสีขาวและจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูต่อไป
การปลูกเลี้ยงและดูแลรักษา

ดิน ที่เหมาะในการใช้ปลูกบัวคือ ดินเหนียว ดินท้องร่องที่มีธาตุโปแตสเซียมสูง ไม่ควรใช้ดินที่มีซากอินทรีย์วัตถุที่ยังย่อยสลายไม่หมดเพราะจะทำให้น้ำเสียและอาจทำให้ต้นเน่าได้

น้ำ ต้องเป็นน้ำที่สะอาด ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 5.5-8.0 อุณหภูมิควรอยู่ระหว่าง 15-35 องศาเซลเซียส ไม่ควรเกิน 50 องศาเซลเซียส ระดับความลึกของน้ำที่บัวต้องการแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

  1. น้ำตื้น คือบัวที่ต้องการน้ำลึกระหว่าง 15-30 ซม. มีผิวหน้าของน้ำในการแผ่กระจายของใบประมาณ 50X50 ซม.
  2. น้ำลึกปานกลาง คือบัวที่ต้องการความลึกระหว่าง 30-60 ซม. มีผิวหน้าของน้ำในการแผ่กระจายของใบประมาณ 1X1 เมตร
  3. น้ำลึกมาก คือบัวที่ต้องการความลึกของน้ำอยู่ระหว่าง 60-120 ซม

ระดับน้ำที่เหมาะสมกับความต้องการของบัวสังเกตุได้จาก ก้านดอกจะส่งดอกตั้งตรงในแนวดิ่ง ก้านใบไม่ควรแผ่กว้างกว่า 45 องศา

แสงแดด บัวเป็นพืชที่ชอบแสงแดดจัด จึงควรให้บัวได้รับแสงแดดเต็มที่วันละ 4 ซม. เป็นอย่างน้อย ถ้าปลูกบัวในที่ร่มเกินไปบัวจะออกดอกน้อยหรือไม่ออกดอกเลย

การให้ปุ๋ย เมื่อเห็นว่าบัวที่ปลูกชะงักการเจริญเติบโต ใบเล็กลงกว่าปกติ ใบด้านขาดความมัน เหลือง แก่เร็วขึ้น แสดงว่าบัวขาดธาตุอาหารหรือปุ๋ย วิธีการให้ปุ๋ยบัวจะแตกต่างกับการให้ปุ๋ยพืชชนิดอื่นคือ ต้องทำปุ๋ย "ลูกกลอน" โดยนำปุ๋ยสูตรเสมอ 10-10-10 หรือ 15-15-15 ประมาณ 1 ช้อนชา ห่อด้วยดินเหนียวแล้วปั้นเป็นลูกกลอนผึ่งลมให้แห้ง ถ้าปลูกบัวไม่มากอาจใช้กระดาษหนังสือพิมพ์แทนดินเหนียว ห่อ 2-3 ชั้น นำปุ๋ยลูกกลอนที่ทำไว้ฝังห่างจากโคนต้นประมาณ 5-8 ซม. สำหร้บบัวเผื่อน บัวสาย และจงกลณีที่มีการเจริญเติบโตในทางดิ่งให้ฝังด้านใดก็ได้ แต่สำหรับบัวหลาง บัวฝรั่ง และอุบลชาติ ซึ่งมีการเจริญเติบโตในแนวนอนให้ฝังด้านหน้าแนวการเจริญเติบโตของเหง้าหรือไหล

โรคและแมลงศัตรู

  • โรคใบจุด เกิดจากเชื้อรา ระบาดมากในช่วงฤดูฝนซึ่งสภาพอากาศมีความชื้นสูง มักเกิดบนใบบัวที่แก่ อาการของโรคจะเป็นแผลหรือจุดวงกลมสีเหลือง เมื่อแผลขยายกว้างจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ตรงกลางแผลแห้ง ป้องกันและแก้ไขโดยเด็ดใบที่แก่หรือเป็นโรคทิ้ง
  • โรคเน่า มักเกิดกับบัวกลุ่มอุบลชาติและบัวกระด้ง สาเหตุเกิดจากดินที่ใช้ปลูกมีมูลสัตว์ที่ยังเน่าเปื่อยไม่หมด ทำให้หัว เหง้า หรือโคนต้นเละ ต้นแคระแกนและตาย เมื่อเห็นว่าต้นแสดงอาการควรรีบนำต้นขึ้นมาตัดส่วนที่เน่าทิ้ง เปลี่ยนดินปลูกใหม่ หรือเก็บต้นและดินบริเวณที่เป็นโรคทำลายทิ้งเสีย
  • เพลี้ยไฟ มักเกิดกับบัวที่ยังอ่อนอยู่ ทำให้ใบหงิกไม่คลี่ ด้านหลังใบจะมีรอยช้ำเป็นสีชมพูเรื่อๆ ต่อมาจะแห้งและดำ ถ้าเข้าทำลายดอกและก้านดอกจะทำให้ดอกที่ตูมอยู่เหี่ยวและแห้งเป็นสีดำ ก้านดอกแห้งเป็นสีน้ำตาลและหักง่าย
  • เพลี้ยอ่อน จะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนก้านดอก ก้านใบ และใบอ่อนที่โผล่เหนือน้ำ ลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลดำ ทำให้ดอกตูมและใบมีขนาดเล็ก สีเหลืองซีดและแห้งตาย
  • หนอน ได้แก่ หนอนชอนใบ , หนอนกระทู้ , หนอนผีเสื้อ , หนอนกอ จะดูดน้ำเลี้ยงและกัดกินใบบัว

หนอนและแมลงที่กล่าวมาสามารถกำจัดและควบคุมได้โดยใช้ โมโนโครโตฟอส (Monocrotophos) ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า อะโซดริน60 (Azodrin60) มาลาไธออน (Malathion) ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า มาลาเฟซ (Malafez) โดยใช้ในอัตรา 1 ซีซี. ต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ สัปดาห์จนกว่าหนอนและแมลงศัตรูจะหมด

หอย จะเป็นตัวบอกว่าน้ำในบ่อดีหรือเสีย ถ้าน้ำเสียออกซิเจนในน้ำมีไม่เพียงพอหอยจะลอยตัวหรือเกาะอยู่ตามขอบบ่อเพื่อหาออกซิเจนหายใจ ถ้าเป็นเช่นนี้ให้รีบเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อปลูก แต่ถ้าในบ่อมีหอยมากเกินไปหอยจะอาศัยดูดน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนหรือทำให้ก้านใบขาดได้ จึงควรกำจัดออกบ้างโดยการเก็บออก หรือถ้าปลูกในบ่อที่มีขนาดใหญ่อาจจะเลี้ยงปลาช่อนให้ช่วยกินตัวอ่อนของหอยก็ได้

การขยายพันธุ์

การแยกเหง้า บัวในเขตอบอุ่นและเขตหนาวที่มีลำต้นเป็นแบบเหง้าสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีแยกหน่อหรือต้นอ่อนจากเหง้าต้นแม่ไปปลูก โดยตัดแยกเหง้าที่มีหน่อหรือต้นอ่อนยาว 5-8 ซม. ตัดรากออกให้หมด ถ้าเป็นต้นอ่อนสามารถนำไปปลูกยังที่ต้องการได้เลย ถ้าเป็นหน่อให้นำไปปลูกในกระถางขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-25 ซม. ฝังดินให้ลึกประมาณ 3-5 ซม. กดดินให้แน่น เทน้ำให้ท่วมประมาณ 8-10 ซม. ดินที่ใช้ควรเป็นดินเหนียวเพื่อช่วยจับเหง้าไม้ให้ลอยขึ้นเหนือผิวน้ำ เมื่อหน่อเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่จึงย้ายไปปลูกยังที่ต้องการ

การแยกไหล บัวในเขตร้อนโดยเฉพาะบัวหลวงจะสร้างไหลจากหัวหรือเหง้าของต้นแม่แล้วไปงอกเป็นต้นใหม่ สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีตัดเอาไหลที่มีหน่อหรือปลิดต้นใหม่จากไหลไปปลูก การตัดไหลที่มีหน่อไปปลูกควรตัดให้มีขนาดความยาวประมาณ 2-3 ข้อ และมีตาประมาณ 3 ตา นำไหลที่ตัดฝังดินให้ลึก 3-5 ซม. กดดินให้แน่น ต้นอ่อนจะขึ้นจากตาและเจริญเป็นต้นใหม่ต่อไป

การแยกต้นอ่อนที่เกิดจากใบ บัวในเขตร้อนสกุลบัวสายบางชนิดจะแตกต้นอ่อนบนใบบริเวณกลางใบตรงจุดที่ต่อกับก้านใบหรือขั้วใบ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยตัดใบที่มีต้นอ่อนโดยตัดให้มีก้านใบติดอยู่ 5-8 ซม. เสียบก้านลงในภาชนะที่ใช้ปลูกให้ขั้วใบที่มีต้นอ่อนติดกับผิวดิน ใช้อิฐหรือหินทับแผ่นใบไม่ให้ลอย เติมน้ำให้ท่วมยอด 6-10 ซม. ประมาณ 2 สัปดาห์ ต้นอ่อนจะแตกรากยึดติดกับผิวดินและเจริญเติบโตต่อไป

การเพาะเมล็ด การขยายพันธุ์วิธีนี้ไม่ค่อยนิยมปฏิบัติเนื่องจากยุ่งยากและต้องใช้เวลานาน ยกเว้นบัวกระด้งที่ต้องขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดเท่านั้น นอกจากนี้การเพาะเมล็ดมักนิยมใช้กับเมล็ดบัวที่ได้จากการผสมพันธุ์บัวขึ้นมา ใหม่แล้วเก็บเอาเมล็ดนำมาเพาะ เพื่อสะดวกในการคัดแยกพันธุ์ วิธีการเพาะเมล็ดมีดังนี้ เตรียมดินเหนียวที่ไม่มีรากพืช ใส่ลงในภาชนะปากกว้างที่มีความลึกประมาณ 25-30 ซม. โดยไส่ดินให้สูงอย่างน้อย 10 ซม. ปรับแต่งหน้าดินให้เรียบและแน่น เติมน้ำให้สูงจากหน้าดินประมาณ 7-8 ซม. นำเมล็ดที่จะใช้เพาะโรยกระจายบนผิวน้ำให้ทั่ว เมล็ดจะค่อยๆ จมลงใต้น้ำ สำหรับเมล็ดบัวหลวงและบัวกระด้งเมล็ดมีขนาดใหญ่ ให้กดเมล็ดให้จมลงไปในดินแล้วเติมน้ำให้สูงจากผิวดินประมาณ 15 ซม. นำภาชนะที่เพาะไปไว้ในที่มีแดดรำไร ประมาณ 1 เดือน เมล็ดจะเริ่มงอกเป็นต้นอ่อน เมื่อต้นอ่อนแข็งแรงและมีใบประมาณ 2-3 ใบ จึงแยกนำไปปลูกยังที่ต้องการ

การผสมพันธุ์

ดอกบัวจัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศมีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน เกสรตัวเมียจะบานก่อนเกสรตัวผู้ 1-2 วัน ดังนั้นเกสรตัวเมียจึงมักได้รับการผสมพันธุ์จากเกสรตัวผู้ของดอกอื่น โดยมีลมและแมลงเป็นตัวช่วยในการผสมพันธุ์ แต่การผสมพันธุ์บัวเพื่อให้ได้บัวพันธุ์ใหม่ที่มีสีสวยแปลกออกไปและเพื่อ เป็นการพัฒนาสายพันธุ์จึงมักเป็นการผสมพันธุ์โดยมนุษย์ช่วยผสมพันธุ์ โดยคัดเลือกบัวพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่จะนำมาผสม ก่อนดอกแม่บาน 1-2 วัน ให้ทำการเปิดดอกแล้วใช้กรรไกรขลิบตัดเกสรตัวผู้ออกให้หมดแล้วคลุมดอกด้วยผ้า มุ้งตาถี่ๆ เพื่อกันเกสรตัวผู้จากดอกอื่นที่ไม่ต้องการเข้ามาผสม เมื่อดอกแม่บานให้ขลิบตัดเอาเกสรตัวผู้จากดอกต้นพ่อพันธุ์และควรเป็นดอกที่ บานแล้วประมาณ 2 วัน มาใส่บนเกสรตัวเมียของดอกแม่แล้วคลุมด้วยผ้ามุ้งตามเดิม ดอกแม่เมื่อได้รับการผสมแล้วถ้าผสมไม่ติดดอกจะลอยอยู่ปริ่มน้ำแล้วจะโรยไป ถ้าผสมติดดอกจะเริ่มกลายเป็นฝักโดยดอกจะค่อยๆ จมลงใต้น้ำประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อดอกเจริญเป็นฝักแก่และมีเมล็ดแก่ก็จะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำใหม่อีกครั้ง จึงเก็บเอาฝักแก่มาแยกเอาเมล็ดนำไปเพาะเมล็ดต่อไป

ไม้ประดับดูดสารพิษ

ดร.บี ซี วูฟเวอร์ตัน (Dr. B.C. Wolverton) นักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยอวกาศนาซ่า สหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยมาเป็นเวลากว่า 25 ปี จนค้นพบความสามารถ และประสิทธิภาพของไม้ประดับในการกำจัดสารพิษหรือมลภาวะในอากาศได้อย่างดี เยี่ยม และผลการวิจัยนี้ก็ได้เผยแพร่ออกไปทั่วโลก
ดร.บี ซี วูฟเวอร์ตัน ได้เขียนหนังสือ Eco-Friendly House Plant หรือ ไม้ประดับที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยแนะนำไม้ดอกไม้ประดับ 50 ชนิด ที่มีความสามารถในการดูดไอพิษจากอากาศ ไม่ว่าจะเป็นฟอร์มาดิไฮด์ แอมโมเนีย ไซลีน ทูลีน รวมทั้งไอเสียที่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งไม้ประดับส่วนใหญ่ที่ ดร.วูฟเวอร์ตันแนะนำนั้นเป็นไม้ประดับที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี เป็นไม้ประดับที่สวยงาม ดูแลรักษาง่าย เป็นไม้ประดับที่นิยมปลูกกันโดยทั่วไป เพียงแต่เราไม่เคยได้ล่วงรู้ถึงคุณสมบัติในการดูดสารพิษของไม้ประดับเหล่านี้มาก่อน

การปลูกต้นไม้เพื่อฮวงจุ้ยที่ดี ทำให้เจ้าของบ้านเจริญรุ่งเรือง

การปลูกต้นไม้เพื่อฮวงจุ้ยที่ดี ทำให้เจ้าของบ้านเจริญรุ่งเรือง
ต้นสน

ตามความเชื่อของคนจีน ต้นสนเป็นสัญลักษณ์
ของการมีอายุยืนยาว และความมั่นคง ต้นสน
ต้นไผ่ และต้นเหมย ถือเป็นสามสหายแห่งฤดูหนาว
สำหรับบ้านที่มีประวัติบุคคลภายในบ้านอายุสั้น
หรือมีการตายอย่างปัจจุบันทันด่วน หรือตายร้าย
ให้หากิ่งสนที่มีอายุมากๆ มาเก็บซ่อนไว้ที่ห้องนอน
อย่าให้ใครเห็น หรือจะหาภาพนกกระเรียน หรือเต่า
มาแขวนในบ้านก็ได้ เพราะเป็นสัญลักษณ์แห่งอายุยืน

ต้นราชพฤกษ์
เปรียบเสมือนความเหลืองอร่ามดั่งทอง

ต้นเข็ม
เปรียบเสมือนความเฉลียวฉลาด ความเป็นผู้มีปัญญา
หรือความเฉียบแหลม

เฟื่องฟ้า
เปรียบเสมือนความก้าวหน้า ความเบิกบาน การดำเนิน
ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า คือความเจริญรุ่งเรืองนั่นเอง

บอนไซ
เปรียบเสมือนความอดทน และความแข็งแกร่ง
ต่อสภาวะต่างๆได้ดี

กล้วยไม้
เปรียบเสมือนการจะทำให้คนที่พบเห็นเกิดความ
ประทับใจ และมีจริยธรรม แล้วยังทำให้มีจิตใจ
ที่อ่อยโยนอีกด้วย

วาสนา
เปรียบเสมือนการจะทำให้เกิดโชคลาภ ร่ำรวย
มีบารมี เกิดบุญวาสนา สมหวัง และประสบ
ความสำเร็จในชีวิต หากผู้ใดปลูกจนออกดอกออกผล
จะสมดั่งใจปราถนาตามที่หวัง

ต้นมะขาม
เปรียบเสมือนการจะทำให้คนเกรงขาม ให้ความ
เคารพนับถือ

ต้นมะยม
เปรียบเสมือนการจะทำให้คนนิยมชมชอบ
มีคนเสน่หา เมตตามหานิยม แถมต้นมะยมยัง
ทำให้เด็กนิสัยเสียกลายเป็นเด็กดีได้ดีนักแล

ต้นโมก
เปรียบเสมือนการสามารถคุ้มกันภยันอันตรายต่างๆได้
ดอกสีขาวส่งกลิ่นหอม คือความบริสุทธิ์ และความสุข

แก้ว
เปรียบเสมือนการจะทำให้มีโชคลาภ ดั่งมีเงินทอง
กองอยู่ในบ้าน สีขาวของดอกแก้วคือความดี และ
ความบริสุทธิ์สดใส

โป๊ยเซียน
เปรียบเสมือนโชคลาภบารมีและความรุ่งเรืองสงบสุข
หากบ้านใดปลูกต้นโป๊ยเซียน แล้วออกดอกแปดดอก
จะทำให้มีโชคลาภตามความหมายของเลขแปด คือ
โชคลาภมีตลอด ไม่สิ้นสุด

สนฉัตร
เปรียบเสมือนการทำให้เกิดความประทับใจ แก่ผู้พบเห็น
เกิดสง่าราศี เจริญรุ่งเรือง ยศศักดิ์

ขนุน
เปรียบเสมือนจะมีคนคอยช่วยเหลือค้ำจุน และคอยช่วย
ส่งเสริม เกิดโชควาสนาบารมี ตามหลักฮวงจุ้ย ให้ปลูก
ที่ด้านหลังของบ้าน คือมีผู้คอยอุปถัมภ์

ว่านสี่ทิศ
เปรียบเสมือนการจะเดินทางไปทางใด ก็จะปลอดภัย
ไร้อุปสรรค แคล้วคลาดจากภัยอันตรายต่างๆ มีแต่คน
คอยช่วยเหลือ

ดอกบัว
เปรียบเสมือนความบริสุทธิ์ ความดี บุญบารมี ทำให้
คนในครอบครั้ว มีความสามัคคีต่อกัน

จากหนังสือ ชาตินี้รวยแน่ต้องแก้ฮวงจุ้ย
อาจารย์อัปสร สำนักพิมพ์มู่หลาน