ใช้ไม่ถูกวิธีจะ 'มีภัย !' การเสียชีวิตของศิลปินนักร้องชื่อก้องโลกสัญชาติสหรัฐอเมริกา
“ไมเคิล แจ๊คสัน” นั้น สำหรับในประเทศไทยเราสื่อทุกแขนงต่างก็นำเสนอเป็นข่าวใหญ่อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกรณีสัตว์น่ารักประจำถิ่นของจีนอย่าง แพนด้า มาลืมตาดูโลกในประเทศไทย ซึ่ง 2 ข่าวนี้ต่างก็ให้ “แง่คิด” ที่เกี่ยวกับคนไทยโดยตรงได้ อย่างเช่น...เห่อแพนด้าก็อย่าลืมสนใจ “ช้างไทย” ติดตามข่าวไมเคิลตาย...น่าจะคิดถึงภัย “ยาแก้ปวด” กับกรณี ไมเคิล แจ๊คสัน นั้น ไม่ว่าที่สุดแล้วผลชันสูตรจะบ่งชี้ว่าเขาต้องจากโลกนี้ไปด้วยสาเหตุอะไรแน่ แต่จากรายงานข่าว...ช่วงชีวิตบั้นปลาย ของเขาดูจะเกี่ยวข้องกับ “ยา” จำนวนมาก ซึ่งก็มี “ยาแก้ปวด” รวม อยู่ด้วย ที่สำคัญ...มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผลจากยาแก้ปวดด้วย แม้ว่าจริง ๆ แล้วอาจจะไม่เกี่ยว ?!? ทั้งนี้ แม้คนไทยทั่วไปจะคุ้นเคยกับยาแก้ปวดดี แต่กระนั้น ยาก็คือยา...ไม่ใช่อะไรที่ใช้-ที่กินยังไงก็ได้ !!
ซึ่งจากข้อมูลเกี่ยวกับยาแก้ปวด จากบทความของ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย เภสัชกรสุรชัย อัญเชิญ ในเว็บไซต์ www.pharm.chula.ac.th ก็ มีแง่มุมที่คนไทยควรจะได้ตระหนัก เภสัชกรสุรชัยระบุไว้ว่า... ยาแก้ปวดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ... “ยาแก้ปวดชนิดเสพติด” และ “ยาแก้ปวด ชนิดไม่เสพติด” ซึ่งแต่ละชนิดก็มีผลดี-ผลเสียที่แตกต่างกัน สำหรับยาแก้ปวดชนิดเสพติด เป็นยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ระงับปวดสูง แต่ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ ยาประเภทนี้ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ในการซื้อ จึงมักใช้กับคนไข้ในโรงพยาบาลหรือคลินิกเป็นส่วนใหญ่ โดยตัวยาเป็นสารจาก ฝิ่น และสารที่มี ฤทธิ์คล้ายฝิ่น ได้แก่ มอร์ฟีน เมเปอริดีน เมธาโดน โคเดอีน เลโวโปรพรอก ไซฟีน เพนตาโซซีน ยากลุ่มนี้ใช้เป็นยาเดี่ยวเพื่อระงับปวดที่รุนแรงปานกลางจน ถึงรุนแรงมาก ที่เกิดขึ้นที่กล้ามเนื้อเรียบ อวัยวะภายใน และกระดูก หรือใช้เป็นยาเสริมกับยาแก้ปวดชนิดไม่เสพติดเพื่อระงับอาการปวดที่รุนแรง ปานกลาง ยาประเภทนี้ทำให้ผู้ใช้เกิดการ “ชินยา-ติดยา” ได้ ส่วนยาแก้ปวดชนิดไม่เสพติด เป็นยาที่มีฤทธิ์ระงับปวดต่ำ แต่มีฤทธิ์ลดไข้ด้วย ได้แก่... ยาแก้ปวด-ลดไข้ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (NSAID) ด้วย เช่น แอสไพริน ไอบูโปรเฟน ไดฟลูนิซาล เมเฟนามิคเอซิด นาพรอกเซน ซูลินแดค พิรอกซิแคม เป็นต้น, ยาแก้ปวด-ลดไข้ที่ไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ คือ พาราเซตามอล ยาประเภทนี้ใช้ระงับอาการปวดที่รุนแรงน้อยจนถึง ปานกลางของกล้ามเนื้อลาย เอ็น ข้อต่อ ปวดศีรษะ ปวดฟัน
ยาประเภทนี้ไม่ทำให้เกิดการติดยา แต่ “ก็ต้องระวัง” ย้อนกลับไปที่ยาแก้ปวดชนิดเสพติด ซึ่งใช้บรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน และปวดรุนแรง เช่น ปวดเกร็งกล้ามเนื้อเรียบ ปวดกระดูก ยาประเภทนี้มีทั้งชนิดยากินเมื่อต้องใช้ต่อเนื่อง และ “ยาฉีด” อย่าง ที่เราได้ทราบจากข่าวของ ไมเคิล แจ๊คสัน โดยยาแก้ปวดแบบฉีดนี้จะใช้เมื่อต้องการเห็นผลรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ยาแก้ปวดชนิดเสพติดโดยทั่วไปจะมี “ผลเสีย”อาทิ... กดการหายใจ มีผลทำให้ผู้ป่วยหายใจอ่อน ช้า และมีผลเสียอย่างมากกับผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจอุดกั้น เช่น หอบหืด, กดระบบภูมิคุ้มกัน (ผู้เสพติดฝิ่นจึงมีโอกาสเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น โรคติดเชื้อ โรคเอดส์), ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะในระยะแรกของการใช้ยา แต่ต่อไปอาจชินยา ทั้งนี้ โดยทั่วไปจะไม่ใช้ยาแก้ปวดชนิดนี้กับอาการปวดเรื้อรังซึ่งต้องใช้ยาต่อ เนื่องระยะยาว เนื่องจากปัญหาติดยา เว้นแต่กรณีจำเป็นต้องใช้ เช่น อาการปวดของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ไม่นาน การติดยาจึงเป็นประเด็นปลีกย่อย กับยาแก้ปวดชนิดไม่เสพติด ที่ใช้กับอาการปวดที่มีไข้ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะจากไข้หวัดหรือติดเชื้อ ปวดจากกล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ แก้ปวด-ลดไข้ กับ แก้ปวด-ลดไข้-ต้านการอักเสบ ถ้าเป็นแบบต้านอักเสบด้วย ซึ่งยาที่เป็นแม่แบบคือ แอสไพริน ผลเสียก็มีอาทิ... ระคายเคืองทางเดินอาหารและลดความต้านทานของผนังกระเพาะและลำไส้ ทำให้ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เลือดออก และเป็นแผลในทางเดินอาหาร หากมีการใช้ขนาดสูงเป็นเวลานาน จึงห้ามใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคแผลในทางเดิน อาหารอยู่แล้ว, ผลพิษของแอสไพริน ทำให้เกิดอาการหูมีเสียงกริ่ง ไม่ได้ยินเสียง วิงเวียน, การใช้ยาเกินขนาด ทำให้อาเจียนอย่างหนัก หายใจถี่แรง ต้อง แก้ไขโดยการล้างท้อง, อาจมีผลพิษต่อไตและตับ ในระยะยาว
และกับยาแก้ปวดชนิดไม่เสพติด แบบแก้ปวด-ลดไข้ ซึ่ง พาราเซตามอล คือยาในกลุ่มนี้ที่รู้จักกันดี คือยาที่คนไทยใช้กันทั่วไป ก็มี “ผลเสีย” ได้ กล่าวคือ... การใช้ยาขนาดสูง หรือติดต่อกันระยะยาว อาจทำให้เกิดผลพิษต่อตับอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยทำให้เซลล์ตับตาย ตับเสื่อมสภาพ ทั้งนี้ โดยปกติยาส่วนหนึ่งจะถูกตับเปลี่ยนเป็นสารพิษ ซึ่งตับเองจะใช้สารป้องกันตัวเองที่มีอยู่กำจัดสารพิษดังกล่าวได้ แต่หากใช้ยาอย่างต่อเนื่องไป นาน ๆ สารป้องกันนั้นจะถูกใช้จนหมด จึงไม่สามารถกำจัดสารพิษได้ จนมี ผลเสียต่อตับ ดังนั้น เภสัชกรสุรชัย จึงเตือนไว้ว่า... การใช้ยาแก้ปวดกลุ่มนี้ต้องระวังเรื่องผลพิษที่รุนแรงต่อตับจากการใช้ต่อ เนื่อง ไม่ควรกินยานี้ในขนาดสูง กว่าครั้งละ 1,000 มก. (2 เม็ด) หรือเกินวันละ 6,000 มก. (12 เม็ด), ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานกว่า 7 วัน, ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคต่าง ๆ เกี่ยว กับตับ ก็เป็น “แง่คิด” ได้อีกเรื่องหนึ่ง...จากข่าว “ไมเคิล แจ๊คสัน” “ยาแก้ปวด” ที่ช่วยให้หายปวด “ใช้ไม่ถูกวิธีจะมีภัย !!”.
No comments:
Post a Comment