เวลาหนูดีบรรยายเรื่องพัฒนาการสมองของเด็กให้พ่อแม่ฟัง หนูดีมักจะมีข้อสอบสนุกๆ ให้พ่อแม่ลองทำกันดูแล้วก็เฉลยกันเดี๋ยวนั้น
เฉลยข้อหนึ่งก็มีเฮกันครั้งหนึ่ง เพราะคำตอบที่ถูกมักจะดูเหมือนผิด และคำตอบที่ผิดมักจะดูเหมือนถูก โดยเฉพาะข้อที่เกี่ยวข้องกับ “การสื่อสาร” กันระหว่างพ่อแม่ลูก และคนในครอบครัว
เชื่อไหมคะว่า คนในครอบครัวซึ่งเราคิดว่าเรารู้จักกันดีที่สุด อยู่บ้านหลังเดียวกัน เห็นกันทุกวัน แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วกลับเป็นกลุ่มคนที่เราระวังคำพูดกับเขาน้อยที่สุด บางครั้งเราพูดกับคนที่ที่ทำงานหรือเพื่อนๆ ที่โรงเรียนยังเพราะกว่าพูดกับคนในบ้านเสียอีก และหลายครั้งเราเลยพลาดได้รู้ข้อมูลดีๆ หรือข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการดูแลคนใกล้ตัว เพราะเราขาดทักษะสื่อสารง่ายๆ ที่ทำให้เราใกล้ชิดกันแทนที่จะน้อยใจกันอยู่เรื่อยๆ หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เคยพูดว่า มนุษย์เราไม่ค่อยทำร้ายกันด้วยวิธีอื่นหรอกค่ะ เราไม่ค่อยทำร้ายร่างกายกัน ไม่ค่อยโกงกัน แต่เราจะทำร้ายกันมากที่สุดก็ด้วยคำพูดนี่ล่ะค่ะ อาวุธใกล้ตัวที่ใช้ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด และส่วนใหญ่ในครอบครัวนี่เองที่จะบาดเจ็บด้วยอาวุธนี้มากที่สุด
วันนี้ ลองทำข้อสอบทางจิตวิทยาเรื่องการพูดของเราเล่นๆ ดูไหมคะ สักสามข้อ...
สมมติว่า ถ้าลูกของเราพูดกับเราด้วยถ้อยคำไม่น่ารักตอนที่เขาโมโหหรือหงุดหงิด เราควรทำอย่างไรคะ
ก. ขอคำอธิบาย ข. สั่งให้ขอโทษ ค. ไม่ให้ความสนใจ
เวลาที่พ่อแม่ไม่รู้ตัว เขามักจะสื่อสารกับลูกแบบไหน
ก. พูดด้วยกันแบบเปิดใจ ข. เลกเชอร์ลูกสั้นๆ ค. ตำหนิและสั่งสอน
อะไรคือปัญหาการสื่อสารในครอบครัวยุคปัจจุบันนี้คะ
ก. พ่อแม่พูดมากเกินไป ข. เด็กไม่ยอมหยุดพูด ค. เด็กไม่ยอมฟัง
แม้จะนั่งตอบกันไป เฉลยแล้วขำกันไป แต่เนื้อหาข้อสอบเหล่านี้ ก็ทำให้เรามองเห็นอะไรดีๆ เกี่ยวกับความเป็นตัวเราได้พอสมควรทีเดียว ข้อแรกนั้น คำตอบคือ ค. ไม่ให้ความสนใจ ไม่ต้องไปฟังหรือบังคับให้ลูกอธิบายว่าทำไมพูดแบบนั้น คำกุญแจคือคำว่า “โมโห” ค่ะ เพราะเด็กมักจะพูดอะไรก็ได้ที่ไม่น่ารักออกมาตอนโมโห เช่น หนูไม่รักแม่แล้ว หนูเกลียดพ่อ ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วเขาไม่ได้หมายความอย่างนั้นสักนิด ตัวเราเองก็เหมือนกันใช่ไหมคะ บางครั้งเราโมโหก็พูดอะไรโดยไม่ตั้งใจออกไปเหมือนกัน แล้วก็มานั่งเสียใจภายหลัง แต่ถ้าคนฟังไม่ถือโทษ เราจะรู้สึกดีกับคนคนนั้นมากมาย อาจแอบนึกขอบคุณในใจด้วยซ้ำ เกิดความไว้วางใจในความรักของเขาขึ้นอีกมาก
ส่วนข้อสอง เฉลยคือ ค. ค่ะ เวลาที่เราไม่รู้ตัว คนเป็นพ่อแม่มักจะ “ตำหนิและสั่งสอนลูก” นี่คือสิ่งที่นักจิตวิทยาอเมริกันค้นพบหลังจากเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของพ่อแม่ จำนวนมาก และถ้ากว่าครึ่งของเวลาการสื่อสารคือการตำหนิ ลองคิดดูสิคะว่าลูกจะมองเห็นตัวเองเป็นคนแบบไหนถ้าเขาโดนตำหนิเสมอ เหมือนทำอะไรก็ไม่เคยถูกเสียที นักจิตวิทยามักพูดว่าพ่อแม่ที่สั่งสอนลูกตลอดนั้น เพราะลึกๆ แล้วเขาไม่ไว้ใจว่าลูกเขาจะคิดเป็น เขาเลยต้องบอกต้องสั่ง และเด็กก็รับรู้ได้และเลยกลายเป็น “เด็กไว้ใจไม่ได้” ไปจริงๆ ในที่สุด เพราะเด็กจะ “เห็นภาพภายใน” ของตัวเองว่าเป็นอย่างไร ก็จากวิธีที่พ่อแม่สื่อสารเกี่ยวกับตัวเขานี่ล่ะค่ะ หลายครั้งเราอยากให้ลูกเป็นเด็กไว้ใจได้ พูดความจริง เปิดใจกับเรา แต่พฤติกรรมและคำพูดของเราส่งผลให้เป็นตรงกันข้าม แล้วก็มานั่งเสียใจกันทุกฝ่ายตอนลูกเป็นเด็กวัยรุ่น หรือเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มี “โลกส่วนตัว” ที่พ่อแม่เข้าไม่ถึง
การให้เกียรติสำคัญมาก เชื่อไหมคะว่า เด็กที่พ่อแม่เลือกที่จะให้เกียรติ ส่วนใหญ่จะไม่กล้า “ทำลายเกียรติ” ของตัวเองในทุกๆ กรณี เพราะการให้เกียรติคือการไว้ใจ เด็กที่หนูดีรู้จักดีคนหนึ่ง สามารถไปเที่ยวงานปาร์ตี้ที่มียาเสพติดได้โดยไม่เคยเสพยาแม้แต่หนเดียวตลอด ทั้งชีวิตวัยรุ่น ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ครอบครัวให้เกียรติเขา เขาก็จะไม่ทำลายเกียรตินี้ด้วยการเล่นยา แม้ว่ามันจะวางอยู่ตรงหน้าก็ตาม และที่น่ารักก็คือ บ้านนี้ก็ไม่เคยห้ามลูกเที่ยวกลางคืนเสียด้วย ด้วยเหตุผลง่ายๆ เช่นกันว่า “ไว้ใจเขา”
หนูดีเคยอ่านสัมภาษณ์ครอบครัวอเมริกันครอบครัวหนึ่งที่เลี้ยงลูกสาววัยรุ่น ด้วยระบบ “ไว้ใจ” และครั้งหนึ่งเป็นช่วงตรวจร่างกายประจำปี พ่อแม่พาลูกสาวไปตรวจแล้วเมื่อเจาะเลือด หมอพบว่าเด็กกำลังตั้งครรภ์อยู่ จึงขอพบพ่อแม่ต่างหากแล้วแจ้งข่าวนี้ให้ฟัง แทนที่พ่อแม่จะตกใจ ทั้งสองคนหัวเราะขึ้นมาแล้วบอกว่า “เป็นไปไม่ได้” แต่คุณหมอเถียงว่า ผลการตรวจยืนยันอย่างนี้ ทั้งคู่จึงขอให้คุณหมอตรวจใหม่ เพราะมั่นใจว่าผลการตรวจผิดพลาดแน่นอน และเมื่อตรวจใหม่อีกครั้งก็พบว่า เด็กไม่ได้ตั้งครรภ์จริงๆ ซึ่งเรื่องนี้หมอและพยาบาลประหลาดใจมากว่า พ่อแม่ที่เชื่อใจลูกในระดับนี้มีอยู่จริง พ่อแม่ให้สัมภาษณ์ตอนท้ายว่า ถ้ามีเรื่องใหญ่ขนาดนี้เกิดขึ้นในบ้าน ลูกสาวเราต้องบอกเราแล้ว ถ้าไม่บอก แปลว่าไม่มี...เด็กผู้หญิงคนนี้โชคดีจริงๆ ค่ะ
และข้อสุดท้าย คำตอบคือ ก. พ่อแม่ไม่ยอมหยุดพูดค่ะ จริงๆ แล้วการที่เด็กส่วนใหญ่ไม่ยอมเปิดใจ เป็นได้ส่วนหนึ่ง เพราะว่าไม่มีช่องที่จะพูดแทรกเท่าไรเลยค่ะ พ่อแม่พูดเรื่องนั้น สั่งสอนเรื่องนี้ แล้วหลังจากนั้นก็ยุ่งวุ่นวายกับกิจกรรมการงานของตัวเองจนลูกรู้สึกว่า เรื่องที่เขาจะพูดก็คงไม่ได้สำคัญขนาดนั้น แล้วเรื่องส่วนใหญ่ในชีวิตของลูกก็ไม่ได้สำคัญนักหรอกค่ะ ไปโรงเรียน ทำการบ้าน กลับมาบ้าน ไปเรียนพิเศษ ไปเจอเพื่อน นานครั้งจึงจะมี “วิกฤต” เกิดขึ้นในครอบครัว แต่ถ้าเราไม่ฝึกลูกให้มาหาเรา มาเล่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในเวลาที่มันไม่สำคัญเสียแล้ว พอถึงเวลาสำคัญจริงๆ เขาก็คงไม่มาหาเราเหมือนกันนะคะ ลองนึกภาพเด็กน้อยวัยเตาะแตะที่ดึงชายเสื้อพ่อแม่เพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่ไม่มีใครหันมา คิดว่าเด็กจะพยายามกี่ครั้งคะ ก่อนที่จะเลิกสนใจแล้วหันไปหาอะไรอย่างอื่นทำ
บ้านส่วนใหญ่ ไม่ได้จัดเวลาประชุมพูดคุยประจำครอบครัวทุกๆ อาทิตย์ แต่จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักจิตวิทยาแนะนำมากเลยค่ะ เวลานั่งคุยกันสบายๆ ใครไปทำอะไรมาก็เล่าให้กันฟัง ถ้ามีได้ทุกวันตอนเย็นยิ่งดี อาจเป็นเวลาอาหารเย็นหรือหลังอาหารเย็น และอย่าปล่อยให้โทรทัศน์ทำหน้าที่พูดในบ้านแทนเรา เพราะโทรทัศน์ไม่ได้มีหน้าที่อบรมดูแลเด็ก หน้าที่นั้น คนที่ทำได้ดีที่สุด ด้วยหัวใจทั้งดวงก็คือเรา ไม่ใช่ครู ไม่ใช่โทรทัศน์ ไม่ใช่เพื่อนเขา และยิ่งไม่ใช่เพื่อนต่างเพศใหญ่เลยค่ะ
เราใช้เวลา “พูด” เยอะมากในวันหนึ่งๆ จริงๆ แล้วน่าลองสังเกตดูนะคะ ว่า เราได้ “ฟัง” คนรอบตัวเท่าที่เราพูดกับเขาหรือเปล่า และหากเราใช้เวลาฟังคำพูดน้อย ก็แปลว่า เวลาที่เราจะฟัง “ความหมายแอบแฝงหลังถ้อยคำ” ก็ยิ่งน้อยไปใหญ่ และส่วนใหญ่ความลับดีๆ ก็ซ่อนอยู่หลังคำพูดทั้งนั้น ลองนึกถึงเวลามีใครมาบอกรักเราสิคะ เราเลือกฟังคำว่า “รัก” หรือดูท่าทาง แววตาและพฤติกรรมประกอบเพื่อช่วยให้เราเข้าใจความหมายที่แท้จริงที่แฝงหลัง ถ้อยคำ
การเข้าสู่โลกความลับและการสื่อสารอย่างมีศิลปะ จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีอะไรมากมายไปกว่าการมีเวลา การฟัง และเข้าให้ถึงความหมายที่ซ่อนอยู่หลังถ้อยคำเท่านั้นเอง เราทำเช่นนี้บ่อยไปในโลกธุรกิจ ดังนั้นก็คงไม่ยากที่จะดึงทักษะนี้มาใช้กับคนในครอบครัว โดยเฉพาะกับลูก เพราะวิกฤตในโลกธุรกิจไม่ใหญ่เท่าไรถ้าเทียบกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในครอบ ครัวถ้าเราฟังไม่เป็น ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วทักษะการสื่อสารแบบอ่อนโยน เปิดใจ สบายใจ ไร้ซึ่งความลับและความกังวล เป็นทักษะที่แทบจะสำคัญที่สุดในทุกๆ ความสัมพันธ์ โลกแห่งความลับของลูกเปิดเข้าไปได้ไม่ยาก ขอแค่เรามีกุญแจเท่านั้น และกุญแจดอกนั้นก็อยู่ในมือเรามาตั้งแต่วันที่ลูกเกิดแล้วค่ะ วันนี้ลองดูไหมคะ เริ่มต้นง่ายๆ ที่ลองฝึกฟังสิ่งที่ลูกไม่ได้สื่อสารออกมาด้วยถ้อยคำเป็นแบบฝึกหัดแรกดู ก็สนุกดี
[url=http://www.posttoday.com/lifestyle.php?id=64572]
Wednesday, 2 September 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment