Monday 13 July 2009

พระธรรมของสมเด็จองค์ปฐม (ตอนที่ 1)

ขออนุญาตเอามาลงครับ ธรรมของสมเด็จองค์ปฐม จากหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

อุบายการละสักกายทิฏฐิ


สมเด็จองค์ปฐมทรงเมตตาสอน อุบายการละสักกายทิฏฐิไว้มีความสำคัญดังนี้


1. “ให้ พิจารณาความไม่เที่ยงไว้เสมอ ๆ จักได้คลายความยึดมั่นถือมั่นลงได้ด้วยประการทั้งปวง แม้จักละได้ยังไม่สนิท ก็บรรเทาสักกายทิฏฐิลงได้บ้างไม่มากก็น้อย

2. “อย่า ลืมคำว่าสักกายทิฏฐิเป็นขั้น ๆ ตั้งแต่อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด คือ ตั้งแต่ปุถุชนมาสู่พระโสดาบัน-พระสกิทาคามี-พระอนาคามี-พระอรหันต์ ล้วนแต่ละสักกายทิฏฐิในระดับนั้น ๆ ทั้งสิ้น”

3. “สาเหตุก็เนื่องมาจากการเห็นทุกข์ในความไม่เที่ยง จากการเกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ พลัดพรากจากของรักของชอบก็เป็นทุกข์ ความโศกเศร้าเสียใจเป็นทุกข์ แล้วในที่สุดความตายเข้ามาถึงก็เป็นทุกข์ ต่างคนต่างปฏิบัติไป ก็เข้าสู่อริยสัจตามระดับจิตนั้น ๆ โดยเห็นความไม่เที่ยง-เป็นทุกข์-เป็นโทษ จึงพิจารณาสักกายทิฏฐิเพื่อปลดเปลื้องความยึดมั่นถือมั่นในทุกข์นั้นลงเสีย”



ความไม่ประมาท


อีกจุดหนึ่งที่ทรงเมตตาสอน เรื่องความไม่ประมาท มีความสำคัญดังนี้


1. ให้พิจารณาอายุของร่างกายที่มากขึ้นทุกวัน แสดงให้เห็นถึงความตายที่ใกล้เข้ามาทุกที จงอย่ามีความประมาทในชีวิต”

2. ให้เห็นทุกข์ของการมีชีวิตอยู่ในโลกที่ เต็มไปด้วยความเร่าร้อนจากภัยนานาประการ เรื่องเหล่านี้มิใช่ของแปลกหรือของใหม่แต่อย่างไร เป็นภัยที่มีอยู่คู่โลกมานานแล้วในทุก ๆ พุทธันดรที่เจอมาอย่างนี้”

3. อย่าไปหวังแก้โลก อย่าไปหลงปรุงแต่งตามโลก ให้เห็นตัณหา 3 ประการที่ครอบงำโลกให้วุ่นวายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน”

4. ให้มองทุกอย่างตามความเป็นจริง แล้วปล่อยวางโลกเสียด้วยความเห็นทุกข์ เห็นความไม่เที่ยง น่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายินดียินร้ายแม้แต่นิดเดียว”

5. อย่าไปสนใจในจริยาของคนอื่น ใครจักเป็นอย่างไรก็ช่าง ให้มองจิตตนเองเข้าไว้เป็นสำคัญ เพราะตนเองปรารถนาพระนิพพาน จักต้องโจทย์จิตของตนเองเอาไว้เสมอ ฝึกให้ปล่อยวาง เพราะการพระนิพพาน จิตคิดอะไรแม้แต่อย่างเดียวในโลกนี้หรือไตรภพ ก็ไปไม่ถึงพระนิพพาน

6. “การปฏิบัติมิใช่เป็นเพียงคำปรารถนาโก้ๆ เท่านั้น จักต้องเอาจริงเอาจังในการละซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างในโลก จึงจักไปได้ แต่ ราบใดที่ยังมีขันธ์ 5 อยู่ ก็ให้พิจารณาปัจจัย 4 เป็นสิ่งจำเป็นที่จักต้องยังอัตภาพให้เป็นไป สักแต่ว่าเป็นเครื่องอยู่ สักแต่ว่าเป็นเครื่องอาศัย แล้วอยู่อย่างพิจารณาให้เห็นชัดว่า ร่างกายหรือวัตถุธาตุทั้งหมด มีคำว่าเสื่อมและอนัตตาไปในที่สุด จิตก็คลายความเกาะติด จิตมีความสุข มีความสงบ เมื่อ ถึงวาระร่างกายจักพัง การตัดทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ภายนอกรวมตัว หรือแม้แต่ร่างกายก็ตัดไม่ยาก เนื่องด้วยพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นตามความเป็นจริงแล้ว

7. “ให้พิจารณาร่างกาย พิจารณาเวทนา โดยย้อนกลับไปกลับมา ไม่มีร่างกายก็ย่อมไม่มีเวทนา ไม่มีเวทนาก็ย่อมไม่มีร่างกาย แล้วให้เห็นปกติธรรมของรูปและนามซึ่งอาศัยซึ่งกันและกัน พิจารณาให้ลึกลงไป จักเห็นความไม่มีในเรา ในรูป ในนามได้อย่างชัดเจน เราคือจิต ที่ถูกกิเลสห่อหุ้มให้หลงอยู่ติดในรูปในนามอย่างนี้มานานนับอสงไขยกัปไม่ ถ้วน หากไม่พิจารณาให้เห็นชัดเจนลงไปในรูปและนาม ก็จักตัดความติดอยู่ไม่ได้ และเมื่อตัดไม่ได้ก็ไปพระนิพพานไม่ได้”

8. จิตเมื่อจักวางจริยาของผู้อื่นได้ ต้องใช้ปัญญา พิจารณาจุดนี้ให้มาก ๆ ลงตัวธรรมดาให้ได้ แล้วจิตจึงจักปล่อยวางกรรมของผู้อื่นลงได้ ไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมชั่ว เช่น เห็นการเกิดการตายเป็นของคู่กัน เกิดเท่าไหร่ตายหมดเท่านั้น เป็นของธรรมดา แม้แต่พวกเจ้าเองก็เช่นกัน อย่าคิดว่าร่างกายนี้จักยังไม่ตาย ทั้งๆที่ระลึกถึงความตายอยู่นี้ ยังมีความประมาทแฝงอยู่มาก ไม่เชื่อให้สอบจิตของตนเองดู 24 ชั่วโมง ระลึกถึงความตายอย่างยอมรับความจริงได้สักกี่ครั้ง มิใช่สักแต่ว่าระลึกอย่างนกแก้วนกขุนทอง หาได้มีความเคารพนับถือความตายอย่างจริงจังไม่ ซึ่งการกระทำอย่างนั้น หาประโยชน์ได้น้อย”

9. “จำไว้ มรณานุสสติกรรมฐานเป็นพื้นฐานใหญ่ที่จักนำจิตของตนเองให้เข้าถึงความไม่ประมาทได้โดยง่าย และเป็นตัวเร่งรัดความเพียร ด้วยเห็นค่าของเวลาชีวิตที่เหลืออยู่ ชีวิตจริง ๆ ดังเช่นเปลวเทียนวูบ ๆ วาบ ๆ แล้วก็ดับหายไป เกิดใหม่ก็ดับอีก หากไม่เร่งรัดปัญญาให้เกิดขึ้น ก็ยังจักต้องเกิดตายอีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน”

10. ร่างกายที่เห็นอยู่นี้มิใช่ของจริง ตัวจริงๆ คือจิต ให้พิจารณาแยกส่วนออกมาให้ได้ ร่างกายนี้สักเพียงแต่ว่าเป็นที่อยู่อาศัยเสมือนบ้านเช่าชั่วคราวเท่านั้น ไม่ช้าไม่นานจิตวิญญาณก็จักออกจากร่างกายนี้ไป ทุกร่างกายมีความตายไปในที่สุดเป็นธรรมดาเหมือนกันหมด แล้วพิจารณาการอยู่ของร่างกายทุกลมหายใจเข้าออกคือทุกข์ เนื่องด้วยความไม่เที่ยง ทรงตัวไม่ได้ พิจารณาให้เห็นชัด จึงจักวางร่างกายลงได้ในที่สุด”

11. “แม้ แต่เรื่องของบ้านเมือง เรื่องของเศรษฐกิจเวลานี้สับสนวุ่นวาย ให้พิจารณาเห็นเป็นธรรมดา เพราะดวงประเทศไทยเป็นอย่างนี้เอง จักต้องทำใจให้ยอมรับสถานการณ์ให้ได้ทุก ๆ สภาพ เพราะล้วนเป็นกฎของกรรมทั้งสิ้น”

12. “ให้ ดูวิริยะบารมี เพราะยังมีความขี้เกียจอยู่เป็นอันมาก ให้โจทย์จิต (จับความผิดของจิต) เข้าไว้ให้ดี ๆ อย่าไปเสียเวลากับจริยาของผู้อื่น ใครจักเป็นอย่างไรก็ช่าง พิจารณาโลกก็เท่านี้หาที่สิ้นสุดไมได้ ประการสำคัญคือ ประคองจิตของตนเองให้พ้นไปเท่านั้น ความสำคัญอยู่ที่ตรงนี้”

13. “การสงเคราะห์บุคคลอื่น เป็นเพียงหน้าที่เท่านั้น อย่าเอาจิตไปเกาะกรรมของเขา มองให้เห็นธรรมดา แก้โลกไม่มีสิ้นสุดให้แก้ที่จิตใจตนเองเป็นสิ้นสุดได้ พยายามปลดสิ่งที่เกาะติดอยู่ในใจลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จักมากได้ วางภาระและพันธะลงเสียให้เป็นสักแต่ว่าหน้าที่เท่านั้น จิตจักได้ไม่เป็นทุกข์ ประเด็นที่สำคัญอันจักต้องให้เห็นชัดคือพิจารณากฎของกรรม ให้ยอมรับนับถือในกฎของกรรม จุดนั้นจึงจักถึงซึ่งจิตเป็นสุขและสงบได้”

14. เวลานี้กฎของกรรมกำลังให้ผลหนัก ความผันผวนย่อมเกิดขึ้นได้ทุกวัน แต่ไม่ควรที่จักหวั่นไหว รักษาจิตให้สงบ ให้เห็นทุกข์อย่างเป็นธรรมดาเข้าไว้ รักษาอะไรไม่สำคัญเท่ารักษาจิตใจของตนเอง ใคร ตกอยู่ในห้วงของกิเลสก็ไม่สำคัญเท่ากับจิตใจของตนเองที่ตกอยู่ในห้วงของ กิเลส ดูจุดนี้เอาไว้ให้ดี รักษาอารมณ์ของตนเองให้อยู่ในกุศล ดีกว่าปล่อยให้ตกอยู่ในห้วงของอกุศล ปล่อยวางกรรมใครกรรมมันให้ได้ ใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นชัดในกฎของกรรม จุดนั้นแหละจึงจักปล่อยวางกรรมใครกรรมมันได้ ความสุขจักเกิดขึ้นแก่จิตใจของตนเองอย่างแท้จริง”

15. “การ ทำบุญและทำทาน แล้วพิจารณาด้วยความระลึกนึกถึงในบุญในทานอันทำเพื่อพระนิพพาน โดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นอย่างอื่น จัดเป็นจาคานุสสติด้วย และอุปมานุสสติด้วย เป็นการดีเพราะจิตอยู่ในอารมณ์กุศล ซึ่งดีกว่าปล่อยจิตให้ครุ่นคิดถึงความชั่ว-ความเลว แม้จักเป็นการกระทำของบุคคลที่อยู่รอบข้าง มิใช่การกระทำของเราเอง ก็ให้พิจารณาลงเป็นธรรมดา แล้วปล่อยวาง อย่าให้ติดอยู่ในอารมณ์ของใจ เพราะยิ่งคิดยิ่งฟุ้ง รวมทั้งสร้างความเร่าร้อนหรือเศร้าหมองให้เกิดขึ้นแก่จิต ต่างกับจิตที่อยู่ในบุญกุศล อยู่ในทาน-ศีล-ภาวนา มีแต่ประพฤติปฏิบัติยิ่งเยือกเย็นเป็นสุข มีความสดชื่นเอิบอิ่มใจ พิจารณาอารมณ์ทั้งสองอย่าง แล้วนึกเปรียบเทียบอารมณ์ทั้งหลายต่างๆเหล่านี้ดู จิตจักได้ไม่บริโภคอารมณ์ที่เป็นพิษ เพราะปกติจิตมักไหลลงสู่อารมณ์ที่เป็นกิเลส ถูกอกุศลธรรมเข้าครอบงำจิตมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จิตชินกับความเลวมากกว่าความดี ดังนั้นเวลานี้จักมาละความเลวกันก็จักต้องละกันที่จิต ฝึกจิตให้อยู่กับทาน-ศีล-ภาวนา ให้จิตติดดีมากกว่าติดเลว

16. “การสอบอารมณ์ของจิต เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง อย่าคิดว่าบุญ-ท่านไม่ติดแล้ว ฉันไม่เกาะ ถ้าหากสำรวจแล้วจิตยังติดเลวอยู่มากเพียงใด บุญ-ทานยิ่งไม่เกาะ จิตก็ยิ่งเศร้าหมองมากเพียงนั้น เพราะทำบุญทำทานไปก็เหมือนไม่มีผล จิตไม่ยินดี ไม่สดชื่นไปกับบุญ-ทานนั้น หากแต่ทำก็ทำไป จิตไม่ยินดี จิตกลับไปมีอารมณ์ติดบาปอกุศล อย่างนี้นับว่าขาดทุนแท้ๆ พระอรหันต์ท่านก็ยังทำบุญทำทานด้วยความยินดีและเต็มใจทำด้วยเมตตา กรุณา จิตเป็นสุข

17. คำว่าไม่เกาะ กล่าวคือ ไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ในโลกธรรมทั้ง 8 ประการ จิตไม่เกาะบุญ-บาปในที่นี้ เนื่องด้วยผลบุญบาปไม่สามารถให้ผลแก่จิตใจของท่านอีก (หมายถึงพระอรหันต์) แล้วพวกเจ้าเล่า จิตยังข้องอยู่ในบาปอกุศลเป็นอันมาก จักฝึกจิตให้จิตยินดีอยู่ในบุญ-กุศล มีความสุขสดชื่นบ้างไม่ดีกว่าหรือ ดังนั้นจงอย่าพูดว่าไม่ติดในบุญในทาน เพราะจิตยังติดอยู่ในบาป-อกุศล พระอรหันต์ท่านยังไม่ทิ้งจาคานุสสติกรรมฐาน ท่านมีอภัยทานอันเป็นทานสูงสุด เกิดขึ้นด้วยพรหมวิหาร 4 เป็นอัปมัญญา ท่านไม่ข้องอยู่ในบาปของบุคคลรอบข้าง เพราะท่านมีอภัยทานอยู่ในจิตเสมอ แล้วพวกเจ้ามีแล้วหรือยัง เพราะฉะนั้น จงอย่าประมาทในอกุศลธรรม รักษาจิตให้เป็นสุขสดชื่น ด้วยการระลึกนึกถึงบุญ (การทำบุญ) การทำทาน หรือรักษาศีล-เจริญภาวนาด้วยจิตยินดีทำทุกอย่างเพื่อพระนิพพาน ดีกว่าปล่อยให้จิตตกเป็นทาสของบาปอกุศล”



หมายเหตุ


1. พระ พุทธองค์ทรงยกตัวอย่างให้ดู หลวงพ่อฤาษีซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ของพวกเราว่า แม้ท่านจะจบกิจเป็นพระอรหันต์มาหลายสิบปีแล้ว ท่านก็ไม่เคยทิ้งการทำบุญ-ทำทาน-ทำกุศล ให้พวกเราทุกคนปฏิบัติตามท่าน

2. บุคคลที่ฉลาด ทรงสอนให้ตัดหรือละสักกายทิฏฐิข้อเดียว ก็จบกิจในพุทธศาสนาได้

3. คำสั่งสอนของพระองค์มี 84,000 บท สรุปแล้วเหลือประโยคเดียวคือ จงอย่าประมาท” หรือ “จงพร้อมอยู่ในความไม่ประมาท

No comments:

Post a Comment